วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักอาการของเด็กแอลดี ( Learning Disabilities ) กันเถอะ

            LD  หรือ Learning  Disabilities  หมายถึง ความบกพร่องในการเรียนรู้
เด็กแอลดี  จึงหมายถึง  เด็กที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตวิทยา  ความบกพร่องทางการใช้ภาษา การพูด  การอ่าน  การเขียน  การฟัง  การสะกดคำ  การคิด  การให้เหตุผล  การคำนวณทางคณิตศาสตร์  การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ความบกพร่องทางการรับรู้   การสร้างความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  การแก้ปัญหา  การตอบสนอง  การใช้สมาธิ  การจำแนก  การใช้สายตา  การสัมผัส  การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย
            รศ.พญ. ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์ ( 2: 2551)  กล่าวว่า  เด็กแอลดี  หมายถึง เด็กทั่วไปที่มีสติปัญญาและไอคิวปกติหรืออาจสูงกว่าปกติ  แต่มีความบกพร่องในเรื่องบางอย่างโดยเฉพาะเรื่องการอ่านหนังสือ  การเขียนหนังสือ และการคิดคำนวณ  เด็กแอลดีจะมีความสามารถต่ำกว่าชั้นเรียนประมาณ 2 ชั้นปี  คืออาจเรียนอยู่ชั้น ป. 4 แต่ความสามารถด้านการอ่านหรือการเขียนหรือการคำนวณอยู่ในระดับ ป. 1- ป. 3  มีการวิจัยกันว่า เป็นเรื่องวงจรของการทำงานของสมองคล้ายวงจรไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ
            ด้านการอ่าน   เวลาอ่านหนังสือเราจะมองเห็นและรับรู้การประสมคำและความหมายของคำ  แต่เด็กแอลดีจะมีปัญหาในหลายระดับ  ระดับที่หนึ่งคือ สายตาตรวจแล้วเป็นปกติ สายตาไม่ได้สั้น ไม่ได้เบลอไป  เด็กแอลดีมองเห็นตัวหนังสือเป็นข้อมูลที่ป้อนเข้าสมองไม่เหมือนทั่ว ๆไป  เช่น ตัวหนังสือลอยไปลอยมา เห็นกลับข้างคล้ายมีกระจกเงาอยู่ในสมอง ดังเช่น คำ  ว่า Ambulance  ข้างรถพยาบาลที่เขียนกลับข้าง  บางครั้งอ่านได้ย่อหน้าหนึ่ง เมื่อกลับมาอ่านอีกที อ่านไม่ได้เลย   สมองว่างไปเฉย ๆ บางทีอ่านหนังสือหายไปเป็นบรรทัด หรือหายไปเป็นบางตัว จึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ระดับการรับรู้ข้อมูลต่อมาเมื่อเข้าไปถึงข้างในแล้วคือการตีความหมาย เด็กแอลดีอาจเฉลียวฉลาด มีไอคิวปกติ  แต่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียนตามปกติได้
            ด้านการเขียน   เด็กแอลดีที่มีความผิดปกติในการเขียนก็อาจจะเขียนตัวใหญ่ ตัวเล็ก ระยะช่องไฟไม่ถูก  เขียนตก  สะกดผิด  ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  ทำให้เด็กแอลดีไม่สามารถจะเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับวัย  ชั้นเรียน และไอคิวที่ควรจะเป็น
            มีการพบว่า นอกจากเด็กแอลดีจะมีไอคิวปกติแล้ว บางกลุ่มจะมีความเป็นอัจฉริยะด้วย  แต่ว่ามีความบกพร่องในการอ่าน  การเขียน  การคิดคำนวณ  ซึ่งเด็กแอลดีต้องการวิธีสอนที่แตกต่างจากเด็กปกติ  เด็กแอลดีบางคนได้รับการสอนอย่างไรก็ไม่เข้าใจเลข 1   จึงอาจต้องใช้ช่องทางอื่นของการเรียนรู้ของสมอง  เช่น สอนเลข 1  ต้องมีตุ่มหนึ่งแล้วให้ใช้มือคลำ ใช้ประสาทสัมผัส  นอกเหนือจากการเห็นส่งข้อมูลไปที่สมองเป็นสัญลักษณ์ออกมา
            สาเหตุของแอลดี          จากการวิจัยเชื่อกันว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรม  ในสัตว์ทดลองพบว่าเซลล์สมองเดินไปแล้วอาจจะเดินผิดที่  ใยประสาทของสมองที่เดินเป็นวงจรทำงานไม่เต็มที่ ไม่ครบวงจร  ไม่เหมือนวงจรทั่ว ๆไป อีกส่วนหนึ่งพบได้บ่อยคือเป็นผลมาจากสมองถูกกระทบกระเทือน ประสบอุบัติเหตุศีรษะกระแทกอาการโคม่า พอฟื้นขึ้นมาอาจเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้
            จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแอลดี   ศ.ดร.ผดุง  อารยะวิญญู ( 5:2551) กล่าวว่า  เราจะไม่ทราบจนกว่าเด็กคนนั้นจะเข้าโรงเรียน  เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องการเรียนหนังสือ  จะเรียนได้ไม่ดีเท่ากับเด็กอื่น ๆ  เราสามารถจะดูดัชนีบางอย่างได้เมื่อเด็กอายุ  5-6  ขวบ  แต่จะให้แน่ชัดต้องมีอายุ 7 ขวบเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วลักษณะที่เห็นชัดในโรงเรียนก็คือ  ลายมือ  ลายมือจะไม่ค่อยเหมือนเพื่อน   อ่านยาก  ดูจากการอ่านหนังสือจะอ่านไม่ทันเพื่อน  ดูจากการเขียนจะเขียนตามคำบอกไม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น  เป็นลักษณะที่เห็นตอนเข้าโรงเรียนแล้ว  เด็กแอลดีมีร่างกายปกติ เพียงแต่มีปัญหาในการดูสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่จะมีในวิชาภาษาไทย  วิชาคณิตศาสตร์
            ศ.ดร.ผดุง  อารยะวิญญู  แบ่งอาการของเด็กแอลดี  ได้เป็น  4  กลุ่ม คือ
1.  มีปัญหาในการอ่านหนังสือ ( Dyslexia )  จะมีอาการอ่านไม่ออก  หรืออ่านได้บ้าง แต่สะกดคำไม่ถูก  ผสมคำไม่ได้  สลับตัวพยัญชนะ  สับสนกับการผันสระและวรรณยุกต์  บางทีเด็กสนใจแต่การสะกดคำทำให้อ่านแล้วจับใจความไม่ได้
2.  มีปัญหาในการเขียนหนังสือ ( Dysgraphia ) แม้จะรู้ว่าต้องการเขียนอะไร แต่ก็เขียนไม่ได้หรือเขียนได้ช้า   เขียนตกหล่น  เขียนพยัญชนะสลับกัน  หรือเขียนคำเดียวกันแต่เขียนสองครั้งไม่เหมือนกัน   บางคนเขียนแบบสลับซ้ายขวาเหมือนส่องกระจก เขียนลายมือโย้เย้  ขนาดของตัวอักษรไม่เท่ากัน ขึ้นลงไม่ตรงบรรทัด  ไม่เว้นช่องไฟ  ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากมือและสายตาทำงานไม่ประสานกัน หรือการรับภาพของสมองไม่เหมือนคนอื่น
3.  มีปัญหาในการคำนวณ ( Dyscalculia )  อาจมีอาการคำนวณไม่ได้เลย หรือทำได้แต่สับสนกับตัวเลข ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข  บางคนสับสนตั้งแต่การจำเครื่องหมายบวก  ลบ คูณ  หาร  ไม่สามารถจับหลักการได้  เช่น  หลักหน่วย  หลักสิบ  หลักร้อย ต่างกันอย่างไร  บางคนบวกลบเป็น เข้าใจเครื่องหมาย แต่ตีโจทย์คณิตศาสตร์ไม่ได้  เช่น  ถามว่า  2 + 2 เท่ากับเท่าไร  ตอบได้  แต่ถ้ามีส้มอยู่  2  ลูก  ป้าให้มาอีก  2  ลูก  รวมเป็นกี่ลูก เด็กกลุ่มนี้จะตอบไม่ได้ 
4. ประเภทสุดท้าย  เป็นประเภทที่มีความบกพร่องแบบไม่สามารถเฉพาะเจาะจงได้  คือ  ไม่เข้าเกณฑ์ทั้งเรื่องอ่าน  เขียน แล้วก็คำนวณ  ซึ่งก็อาจรวมถึงพวกที่มีความบกพร่องทั้ง 3  อย่างรวมกันด้วยก็ได้
รศ.พญ.ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์  กล่าวถึงอาการของเด็กแอลดี ว่า  สิ่งแรกที่ดูได้คือ ผลการเรียน ถ้าเด็กสอบได้ 49-50 เปอร์เซ็นต์   ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์  ก็ต้องดูสาเหตุว่าเกิดจากอะไร   สิ่งแรกก็คือ การตรวจไอคิว  จะทำให้ครู รู้ว่าสมองเด็กพัฒนาการสมวัยหรือไม่  ถ้าเด็กอาย 9  ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.4  ไอคิวเฉลี่ยอยู่ประมาณ  90-100  ถือว่าปกติ  ถ้าไอคิวปกติแปลว่าสมองมีพัฒนาการเหมือนเด็ก  9  ขวบทั่วไป ก็ควรจะเรียนหนังสือได้เหมือนเพื่อน ควรสอบได้เฉลี่ย     60 -80  เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นจะต้องตรวจสอบไอคิวก่อนโดยนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านนี้  ถ้าตรวจสอบออกมาแล้วพบว่าเด็กมีไอคิว  50 -60  เด็กก็จะเรียนช้าจึงมีปัญหาการเรียนการสอบได้คะแนนไม่ดี  ถ้าไอคิวต่ำอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นแอลดี
            เด็กแอลดีจะมีกระบวนการทำงานของสมองที่แตกต่างไปจากเด็กปกติและการให้ความช่วยเหลือเด็กแอลดีแต่ละคนก็จะแตกต่างกันด้วย  มีการใช้เทคนิควิธีการสอนเด็กกลุ่มนี้ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้น ความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์และผลสำเร็จในการศึกษาก็จะแตกต่างด้วยเช่นกัน
            สิ่งต่อไปที่จะสังเกตคือ  คะแนนของแต่ละวิชา  เด็กที่มีปัญหาการอ่าน การเขียน  คะแนนที่จะต้องใช้วิธีอ่านเขียนภาษาไทย  เช่น  วิชาสังคมศึกษาจะไม่ดี  แต่คณิตศาสตร์ดี  และถ้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้เฉพาะตัวเลข  เอามาบวก  ลบ  คูณ  หาร  เด็กสามารถทำได้หมด  แต่เมื่อเป็นโจทย์เลข  เช่น  มีวัวกี่ตัว  ขายไปกี่ตัว  เหลือกี่ตัว  เด็กจะทำไม่ได้เพราะว่าไม่เข้าใจโจทย์  อ่านไม่ได้  เขียนไม่ได้  คะแนนจะหายไป ลายมือไม่ดี  สะกดผิด  เขียนอ่านไม่เข้าใจ  เขียนตก  เขียนตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ช่องไฟไม่เท่ากัน  เว้นวรรคในที่ไม่ควรเว้นวรรค  ไม่สามารถจะสื่อออกมาเหมือนทั่ว ๆที่ครูสอนซ้ำแล้วหลายครั้ง
            อีกลักษณะหนึ่งคือ เด็กที่มีปัญหาเรื่องการคำนวณ  คณิตศาสตร์ทำไม่ได้เลย  แต่วิชาอ่านเขียนดีมาก  โดยรวมแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาทั้งหมดทุกอย่างรวมกัน
            ส่วน ด้านจิตใจของเด็กแอลดี  ก็จะเงื่องหงอย ซึม ๆ  ไม่มีความหวัง มีความพยายามอ่านเขียนแต่ไม่เข้าใจ  ไม่อยากเห็นสมุดรายงานผลการเรียน ของตนเองเลย  เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองเป็นลักษณะหนึ่งที่สังเกตดูแล้วเหมือนแกล้ง
            การทดสอบเด็กที่มีปัญหาการอ่าน
            เราสามารถจะทำได้ดังนี้  ถ้าเราต้องการทดสอบความรู้ทางคณิตศาสตร์ก็ลองให้อ่านโจทย์คณิตศาสตร์  10  ข้อ  อาจทำได้เพียงข้อเดียว  เพราะว่าอ่านโจทย์แล้วไม่เข้าใจ  ถ้าเราต้องการทดสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์  เราต้องแยกเขาออกมาห้องหนึ่งหรือหลังห้อง  โดยครูอ่านโจทย์ให้ฟัง  ถ้าต้องการทอสอบภาษาไทย   การอ่านการเขียน  ก็ให้เขาอ่านเองเขียนเอง  เพื่อที่จะรู้ว่าความสามารถของเขาอยู่ระดับใด  พัฒนาได้ถึงระดับใดแล้ว
            พฤติกรรมสมาธิสั้น  กว่าร้อยละ  50  ของเด็กแอลดีจะมีพฤติกรรมสมาธิสั้นร่วมด้วย  พฤติกรรมสมาธิสั้นพบได้ในเด็กไอคิวปกติ  สูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติก็ได้  นอกจากนั้นยังพบอาการสามาธิสั้นในพวกไฮเปอร์อยู่ไม่นิ่ง  ออทิสติก หรือในกลุ่มพฤติกรรมบกพร่องอื่น ๆด้วย
            สมาธิสั้นก็คือ  ไม่สามารถทำอะไรได้นาน ๆ อ่านหนังสือชั่วครู่เดียวก็ไปแล้ว  ทำอะไรอยู่ไม่ได้นาน  อาจมีพฤติกรรมไฮเปอร์  คือ  ยุกยิก  อยู่ไม่นิ่ง  เขียนหนังสือได้นิดเดียวเดี๋ยวก็มุดอยู่ใต้โต๊ะ  เดี๋ยวเดินไปเหลาดินสอ  กลับมาเข้าห้อง  ดื่มน้ำ  บางคนก็เดินวนไปรอบห้อง  บางคนอาจเดินไปนอกห้อง  สำรวจทั่วโรงเรียน ถือเป็นพฤติกรรมที่อาจพบร่วมกันได้ ถ้าเป็นแอลดีอย่างเดียว จะมีสมาธิ  ตั้งใจ  แต่มีความบกพร่องทำให้เรียนไม่ได้  เราจะไม่พบแอลดีในกลุ่มของสติปัญญาบกพร่อง  และเป็นคนละกลุ่มกับออทิสติก

                                                                        เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาสัย. 2551.  สร้างด้วยใจเพื่อเด้กแอลดี.  กรุงเทพฯ : ส่วนส่งเสริมการผลิตสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น