วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน

            
             การอ่านเปรียบเสมือนเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขประตูเข้าไปหาความรู้ที่มีอยู่มากมายในโลกนี้  หากผู้ใดอ่านมากย่อมส่งผลให้ผู้นั้นเกิดการเรียนรู้และสามารถพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งประสบการณ์ กระบวนการคิด การตัดสินใจ  การแก้ปัญหา  รวมถึงการช่วยพัฒนาความคิด  สติปัญญา จริยธรรม  ศีลธรรม และเชาว์ปัญญาได้เป็นอย่างดี  หรืออาจกล่าวได้ว่า  การอ่านมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ  ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติโดยรวมทุกด้าน  รวมทั้งเครือข่ายที่โยงใยไปทั่วโลกในฐานะที่สังคมโลกเป็นสังคมของการอ่าน 

            จากความสำคัญของการอ่านดังกล่าว  หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงพยายามรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกได้ส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึง ต่อเนื่องและจริงจัง  สำหรับประเทศไทยได้ใความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวจึงได้รณรงค์ส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีแล้ว  แต่ก็ยังพบว่า คนไทยยังไม่มีนิสัยรักการอ่านเท่าที่ควร   รัฐบาลในยุคปัจจุบันจึงประกาศวาระแห่งชาติให้ปี พ.ศ. 2552-2561  เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน

           อย่างไรก็ตามการที่จะสร้างให้คนมีความรักในการอ่านตลอดชีวิตได้นั้น  ควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กซึ่งอาจเริ่มต้นที่บ้านโดย พ่อแม่ ผู้ปกครอง  สามารถส่งเสริมให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

            เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยเริ่มอ่านหนังสือ

            1. แนะนำให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก
            2. อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ  และขณะที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังควรทำน้ำเสียงให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมทางอารมณ์และกระตุ้นความสนใจของพวกเขา   ควรเปิดโอกาสให้ลูกของคุณได้ช่วยพลิกหรือเปิดหน้าหนังสือ และชี้รูปต่าง ๆที่อยู่ในหน้าหนังสือ
            3. ให้เด็กเห็นคุณพ่อคุณแม่ อ่านหนังสือ ลูกจะได้เลียนแบบคุณพ่อแม่
            4. เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือไปพร้อม ๆ กับลูก ให้ใช้นิ้วมือไล่ตามคำแต่ละคำที่อ่าน  เพื่อให้ลูกจะได้ปะติดปะต่อตัวหนังสือเข้ากับเรื่องราวได้
            5. พูดคุยถึงหนังสือและเรื่องเล่า  เมื่ออ่านหนัสือจบแล้ว คุณควรกระตุ้นให้ลูก หัดตั้งคำถามและชวนคุยเรื่องราวที่อ่าน
             6. เวลาที่พ่อแม่พาลูก ๆออกไปนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตลาด  สวนสาธารณะ  ตลาด หรือบ้านเพื่อน ลองแสดงความคิดเห็นและฝึกตั้งคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์รอบตัว
  
             เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น

             1.ขอให้ลูกคนโตอ่านหนังสือให้น้องฟัง นี่อาจเป็นการจุดประกายให้เด็กเล็กอยากอ่านหนังสือ
             2. อ่านหนังสือกับลูกทุกครั้งที่มีโอกาส
             3.โน้มน้าวให้เขาอ่านหนังสืออย่างค่อยเป็นค่อยไป  พ่อแม่จำเป็นต้องเพิ่มความใส่ใจและค้นหาสิ่งที่ลูกสนใจจริง ๆ เมื่อพบแล้วคุณก็สามารถจูงใจให้ลูกอ่านได้อย่างสร้างสรรค์  เช่นลูกสนใจอินเตอร์เน็ต และชอบดูโทรทัศน์  พ่อแม่อาจจะรวมเอาสองสิ่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การอ่านด้วย
            4. แสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกอ่านทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน  ในช่วงวัยนี้พ่อแม่ควรมีส่วนช่วยลูกอย่างมากในการขยายขอบเขตการอ่านจากที่บ้านสู่การอ่านในห้องเรียน

1 ความคิดเห็น: