วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไม้ยมกใช้อย่างไร

                การใช้ไม้ยมกน่าจะเริ่มมีกฎเกณฑ์ขึ้นเมื่อกรมตำรา  กระทรวงธรรมการ  ได้จัดพิมพ์แบบเรียนภาษาไทย  เครื่องหมายวรรคตอน  ใน ร.ศ. ๑๑๙  กำหนดการใช้ไม้ยมกไว้ดังนี้
                ยมก  สำหรับใช้เขียนหลังคำ,  หลังวลี, หรือหลังประโยคเล็กซึ่งอยู่ในประโยคใหญ่อันเดียวกัน  เพื่อจะแทนที่จะต้องเขียนความ  ก็เป็นความเดียวกันเช่นนั้นอีกเป็นสองหน   ตัวอย่าง    ของเช่นนั้นๆ ฉันไม่ชอบ, คนทุก ๆ คน,  แต่จะใช้เขียนซ้ำพยางค์   เช่น   “ฉันจะไปปทุมวัน วันนี้” เป็น “ฉันจะไปปทุมวันๆ นี้  ไม่ถูก เพราะยมกควรต้องเป็นตัวแทนตลอดนาม  ไม่ใช่ตัดแบ่งพยางค์  หรือจะเขียนซ้ำข้ามประโยค  เช่นกับว่า  “เคาทูก็เข้าไปคำนับโจโฉ, โจโฉ เห็นเคาทูเข้ามาจึงว่า”  เป็น “เคาทูเข้าไปคำนับโจโฉๆ เห็นเคาทูเข้ามาจึงว่า ดังนี้ก็หาควรไม่เพราะชื่อโจโฉอยู่ประโยคหนึ่งต่างหาก           (ตำรา, ๒๔๗๑ : ๑๐) 
                ในแบบเรียนเล่มนี้ไม่ได้ให้ตัวอย่างการใช้ไม้ยมก “หลังประโยคเล็กซึ่งอยู่ในประโยคใหญ่อันเดียวกัน”  ตัวอย่างการใช้ไม้ยมกในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ในหนังสือ หลักภาษาไทย ของพระยาอุปกิต ศิลปะสาร ท่านกล่าวถึงการใช้ไม้ยมกไว้ดังนี้

                .... แต่ถ้าซ้ำคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันอยู่ในประโยคใหญ่ประโยคเดียวกัน ถึงจะอยู่ในประโยคเล็กต่างกัน ท่านก็ยอมให้ใช้ได้  เช่น “เขาภักดีต่อเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาจักรีจึงเลี้ยงเขาไว้” ดังนี้ยอมให้ใช้ว่า “เขาภักดีต่อเจ้าพระยาจักรีๆ จึงเลี้ยงเขาไว้” เพื่อสงวนกระดาษและเวลา  (อุปกิตศิลปสาร, ๒๕๑๑ : ๓๑๕)
                อย่างไรก็ตาม  การยอมให้ใช้ไม้ยมกหลังประโยคเล็กซึ่งอยู่ในประโยคใหญ่อันเดียวกันก่อให้เกิดปัญหา จะต้องพิจารณาว่า คำอยู่ในประโยคเล็กหรือประโยคใหญ่ ใช้ไม้ยมกแทนได้หรือไม่
                ตัวอย่างต่อไปนี้ได้มาจากหนังสือ หลักภาษาไทย  ของพระยาอุปกิตศิลปสาร
เขาเคยมาทุกวัน    วันนี้ไม่มา
                พระยาอุปกิตศิลปสาร  กล่าวว่า  การใช้ไม้ยมกนั้น “ ห้ามไม่ให้ใช้ก้าวก่ายกัน คนละบท หรือคนละความ” ตัวอย่างข้างต้น   ไม่ให้ใช้ว่าเขาเคยมาทุกวันๆ นี้ไม่มา  เพราะเป็นคนละบท คือบทต้นเป็น วลี  - ทุกวัน บทหลังเป็น คำ – วัน  ถ้าใช้ต้องอ่านว่า “ เขาเคยมาทุกวัน  ทุกวันนี้ไม่มา” ซึ่งผิดความหมายด้วย และเป็นคนละประโยคด้วย....          (อุปกิตศิลปสาร,  ๒๕๑๑ : ๓๑๕)
                คำว่า วัน ในตัวอย่างข้างต้นถือว่าอยู่คนละประโยค  ไม่ควรใช้ไม้ยมก  แต่ถ้าแก้ไขประโยคเล็กน้อยเป็น เขาเคยมาทุกวัน   วันนี้จึงมาอีก  

                จะเกิดปัญหาว่า  แม้คำว่า  วัน  จะอยู่ในประโยคเล็กต่างกัน แต่อยู่ในประโยคใหญ่ประโยคเดียวกัน น่าจะยอมให้ใช้ไม้ยมกได้
                ปัญหายุ่งยากเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น  ถ้าห้ามใช้ยมกข้ามประโยค  ไม่ว่าจะเป็นประโยคเล็กหรือประโยคใหญ่
                ปัจจุบัน  มีหลักเกณฑ์การใช้ไม้ยมกปรากฏอยู่ในหนังสือ  หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ  ของราชบัณฑิตยสถาน สรุปได้ดังนี้
                ไม้ยมกหลังคำ  วลี  หรือประโยค  เพื่อให้อ่านซ้ำคำ   วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง
                ต้องใช้ไม้ยมกเสมอถ้าเป็นคำซ้ำ
                ไม่ควรใช้ไม้ยมก  เมื่อเป็นคนละบท  คนละความ  หรือเมื่อรูปคำเดิมเป็น ๒ พยางค์ที่มีเสียงซ้ำกัน   หรือเมื่อเป็นคำคนละชนิดกัน  หรือเมื่อเป็นคำประพันธ์   ยกเว้นกลบทที่มีกำหนดให้ใช้ไม้ยมก
                เราอาจใช้ไม้ยมกซ้ำคำและความตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
ตำรา,  กรม  กระทรวงธรรมการ.  ๒๔๗๑.  แบบเรียนภาษาไทย  เครื่องหมายวรรคตอน. พิมพ์ครั้งที่ ๔.
                   พระนคร
: โรงพิมพ์อักษรนิติ.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  ๒๕๕๑.  หนังสืออุเทศภาษาไทย : ภาษาไทย  น่าศึกษา
                   หาคำตอบ
.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องคืการค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.
อุปกิตศิลปสาร,  พระยา.  ๒๕๑๑.  หลักภาษาไทย.  พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น