วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สอนศิษย์รักให้รู้จักอ่านเขียน


          
            การอ่านเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตของมนุษย์  การอ่านมากย่อมทำให้เกิดความรู้ในแก่นแท้และประสบการณ์ที่หลากหลายในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม ตลอดจนประเทศชาติได้ 
             แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยยังไม่มีนิสัยรักการอ่านเท่าที่ควร  ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีนิสัยรักการอ่านจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นครู  พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ในการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กสนใจในการอ่านให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นผู้มีนิสัยรักการอ่านในที่สุด  อย่างไรก็ตามการที่จะปลูกฝังให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านควรจะเริ่มตั้งแต่เขาอยู่ในวัยเยาว์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น"ไม้อ่อนที่ยังดัดได้ง่าย"  อย่าได้ไปเริ่มในวัยผู้ใหญ่เดี๋ยวจะเป็น"ไม้แก่ที่ดัดยาก" เสียแล้ว การที่จะเห็นคนไทยมีนิสัยรักการอ่านนั้นก็คงจะเป็นไปได้ยาก            

            วันนี้ผู้เขียนขอเสนอบทความของท่านอาจารย์ชาตรี  สำราญ  ผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษาไทยมานาน โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาไทย  ท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในแวดวงครูภาษาไทยดี  ท่านมีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทยมากมาย และนี่ก็เป็นอีกชิ้นงานหนึ่งของท่านที่มีผู้นำมาเผยแพร่อยู่เนือง ๆ  ตั้งแต่  ปี 2545  จนถึงปัจจุบัน  ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวิธีการสอนอ่านที่ดีที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง พ่อแม่ หรือคุณครูอาจนำไปปรับใช้กับการสอนอ่านให้แก่ลูก (ศิษย์) ของท่านได้นะคะ รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นเชิญติดตามอ่านได้เลยค่ะ


สอนอย่างไรให้ลูก (หลาน) ศิษย์อ่านหนังสือได้

คุณเชื่อไหมว่า เด็กๆ นั้นพอเขาเริ่มอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ เขาก็จะเริ่มอ่านเริ่มเขียนทันที ตรงนี้แหละที่เราต้องการ ผมเรียกว่า เด็กเริ่มพร้อมที่จะอ่านจะเขียน ผึ้งเป็นหลานสาวผม และผึ้งก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ พออ่านเรื่องราวที่ผึ้งกับปู่ช่วยกันคิดเขียนปิดไว้ข้างฝาผนังมากเข้า ผึ้งก็อยากอ่านหนังสือเล่ม เช้าวันนี้ผึ้งหยิบหนังสือแบบเรียนภาษาไทยของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ มานั่งอ่านข้างๆ ผม “ปู่คะอ่านว่าไงคะ” ผึ้งชี้ที่รถไฟ ผมบอกผึ้ง ผึ้งอ่านเบาแล้วก็เริ่มสะกดคำอ่าน ม - า - มา

รถไฟรถ
ไฟมา
ตา มา รถไฟ

             แน่นอนในเมื่อตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ผึ้งฝึกอ่าน เขียนนอกเวลาเรียนเป็นเรื่องๆ อยู่บ่อยๆ ผึ้งจำสิ่งเหล่านั้นได้ไม่หมดทุกตัว แต่พอผมชี้ให้ดูในแผนภูมิคำเหล่านั้น ผึ้งจะรำลึกขึ้นมาได้


            พอผึ้งเริ่มอ่านหนังสือที่ปู่หยิบขึ้นมาสอนได้ ผึ้งก็มีกำลังอ่านและอ่าน ช่วงนี้เองจะมีคำสะกดยากๆ เช่น นก ตก จน คน ซึ่งผมจะไม่สอนคำเขียนคือสอนว่า ค - น - คน แต่ผมจะสอน ค - โ - ะ - น - คน แล้วเขียนให้ดูดังนี้ คโะน พร้อมกับถามว่าอ่านยากไหม ผึ้งหัวเราะพร้อมกับบอกผมว่า “ตัวอะไรก็ไม่รู้” ทำเสียงแบบนักร้อง เราหัวเราะด้วยกันก่อนที่ผมจะบอกว่า เขียนแล้วอ่านยากจึงดึงเอา โ-ะ ออกไปคงแบบเดียวกัน แม้แต่คำ นก ตก รก ปก ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แล้วเราก็ฝึกอ่านสะกดคำเหล่านั้น

             คำว่า วัน ขัน กัน ปัน ก็สอนในลักษณะเดียวกันเปลืองเนื้อที่และอ่านยากเลยลดลงเป็น วัน ฉัน ขัน ผมจะไม่บอกว่าเป็น สระลดรูป สระเปลี่ยนรูป เพราะยากเกินเด็กตัวน้อยๆ จะเข้าใจ

            ผมเองนั้นยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า สมัยเรียนหนังสือผมไม่เข้าใจหลักภาษา หรือไวยากรณ์ เพราะผมมองไม่เห็นภาพ มีแต่ท่องจำ และจำยากเพราะกฎเกณฑ์มากเหลือเกิน แต่พอเป็นครูผมดูภาษาไทยเชิงวิเคราะห์คำ ผมเห็นภาพในคำและเห็นคำในภาพ ทำให้ผมเข้าใจภาษามากขึ้นอ่านวรรณคดีแบบมีความสุขเพราะได้อรรถรสทางวิญญาณเข้าไปด้วย หนังสือที่ผมอ่านแต่ละเล่มถ้ามีคำแปลกใหม่กินใจผม ผมจะบันทึกไว้แล้วนำมาพินิจพิจารณาหาทางใช้ให้เป็นประโยชน์

              การเรียนการสอนที่ดีต้องสอนให้ผู้เรียน รู้วิธีการเรียนรู้ รู้วิธีคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ พร้อมกับนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนได้จริงๆ การเรียนที่นำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ได้จริงนั้นมีคุณค่าต่อผู้เรียนยิ่งนัก

             ผมสอนผึ้งแบบสบายๆ ไม่มีแรงกดดันใดๆ ทั้งสิ้น ผมไม่ได้นำผลการเรียนของผึ้งไปเปรียบเทียบกับใคร ผมคอยให้ผึ้งประเมินผลการสอนของผมมากกว่า ผมประเมินผลการเรียนของผึ้ง เพราะเมื่อผึ้งอ่านออก เขียนได้เพียงใด แสดงให้เห็นผลการสอนของผมเพียงนั้น ผมเฝ้าดูผลการเรียนของผึ้งเพื่อนำมาพัฒนาผลการสอนของผม มากกว่าดูผึ้งเพื่อตัดสินชะตากรรมของผึ้ง ปู่หลานร่วมกันเรียนรู้วิธีสอนและวิธีเรียน

             เมื่อผึ้งอ่านหนังสือได้ ผมจะไม่ให้ผึ้งอ่านหนังสือเล่มเดียว บทเรียน แบบเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษา ไม่ใช่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ครูต้องยึดมาสอนเด็กตลอดปี หนังสือแบบเรียนภาษาไทยเล่มหนึ่ง เล่มสองไม่ได้สอนวิธีการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ครูต้องสอนหนังสือหลายๆ เล่มเวลานักเรียนอ่านเรื่องใด ครูจับประเด็นมาถามให้นักเรียนค้นหาคำตอบจากหนังสือหลายๆ เล่ม เช่น ชั้น ป.1 ถามให้นักเรียนค้นหาคำที่ประวิสรรชนีย์ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ค้นจากหนังสือหลายๆ เล่ม เขาค้นเล่มใดให้จดชื่อหนังสือนำมาอ้างอิงแหล่งค้นคว้าด้วย สิ่งนี้ผู้สอนต้องฝึกผู้เรียน

วิธีการเรียนรู้
แหล่งเรียนรู้
ความคิดสร้างสรรค์
และการนำประยุกต์ใช้

              คือ เพชรของผู้เรียน คือขุมทรัพย์ทางปัญญาของผู้เรียน เวลาผมให้ผึ้งอ่านหนังสือจะนั่งฟัง มีช่วงใดที่ผมจะสามารถนำมาตั้งคำถามได้ ผมจะถาม เช่น ผึ้งอ่าน ตา มา รถไฟ ผมถามผึ้งว่า “ถ้าตาไม่มากับรถไฟตาจะมาหาผึ้งทางใดได้อีก” ครับ ผมต้องการให้ผึ้งคิดจากการอ่าน เพื่อผึ้งอ่านแล้วได้คิด ผึ้งตอบผมว่ามาทางเรือ ทางรถยนต์ ทางเครื่องบิน ทางรถจักรยานยนต์ ผมถามต่อไปว่า “ถ้าปู่จะให้ผึ้งไปหาปู่ที่ยะลาผึ้งจะไปอย่างไร” ผึ้งตอบผมว่า “จะนั่งเครื่องบินไปหา เพราะไม่เสียเวลาผึ้งจะทำงนเก็บเงินไว้แล้วนั่งเครื่องบินไปหาปู่” คำตอบเด็กน้อยซ่อนปริศนาให้คิดมากมาย โดยเฉพาะผึ้งตอบแบบเฉพาะบอกได้ว่าทำไม นั่นคือการตอบที่ไตร่ตรองแล้ว คำตอบที่มีเหตุมีผลคือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในสยามประเทศทุกคน


              ผมจะใช้เวลาพูดคุยกับผึ้งมาก พ่อแม่ของผึ้งก็จะให้เวลากับผึ้งมาก เวลาผึ้งกับน้องใหม่ขัดใจกัน ทะเลาะกัน พ่อแม่ของผึ้งให้ผึ้งคิดหาเหตุผลของความเป็นพี่สาวและน้องใหม่ต้องหาเหตุผลของความเป็นน้องสาว เมื่อต่างคนต่างรู้เหตุและผลดีแล้ว (อารมณ์โกรธสงบ อารมณ์ดีเข้ามาแทนทั้งคู่ก็จะมาเล่นด้วยกัน) นี่เป็นการสอนคนให้ก้าวสู่ความเป็นมนุษย์ เวลาผึ้งจะซื้อของเล่น (ที่มีอยู่ก็มาก) พ่อแม่ให้หาความจำเป็นบอกประโยชน์ บอกเหตุผล ถ้าสมเหตุสมผลก็จะซื้อ แต่ตอนนี้เด็กทั้งสองชอบซื้อหนังสืออ่านมากกว่าของเล่นอื่นๆ

             การเสวนากันแบบให้เหตุผลค้นหาคำตอบเป็นการสร้างปัญญาให้เกิด เพราะคำตอบจะได้มาต้องมีข้อมูล ต้องหาเหตุผลหาข้อมูล ให้ข้อมูลมาช่วยกันวิเคราะห์ สรุปเป็นข้อมูลความรู้ เสวนาต่อหาความเป็นไปได้สรุปเป็นความรู้ ทำบ่อยๆ จะเป็นนิสัยปัญญาก็ย่อมเกิด

             การสอนให้ผึ้งอ่านหนังสือแล้วมาสนทนากันนั้นจะต้องปล่อยให้ผึ้งอ่านจบเรื่องก่อนถ้าไม่จบเรื่อง ถือว่า ขัดจังหวะ ผึ้งไม่ชอบให้ใครขัดจังหวะเวลาอ่านหนังสือ เมื่อผึ้งอ่านจบแล้วเรามานั่งคุยกันถามคำถามที่ขึ้นต้นด้วย ทำไม ส่งผลให้ผึ้งต้องใช้ความคิด


“ทำไม แม่ไก่สีแดง ไม่ยอมให้เพื่อนกินขนมในตอนแรก”
“ทำไมเพื่อนของแม่ไก่สีแดงจึงมาช่วยแม่ไก่ทำงาน”
“เรื่องอย่างนี้ในบ้านเรามีไหม”
“ใครบ้างเอ่ย บางครั้งเป็นเหมือนแม่ไก่สีแดง แต่บางครั้งเป็นเหมือนหมูกับแมวและเป็ด”

             คำถามชวนคิดทำให้ผึ้งต้องอ่านเรื่องซ้ำ อ่านแล้วมาชวนปู่ให้ตั้งคำถามถามผึ้ง ครับผึ้งชอบอ่านกับคิด แต่ไม่ชอบเขียน....


ที่มาข้อมูล : ชาตรี สำราญ สานปฏิรูปการศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 57 2545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น